วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

กลับเมืองร้อยเกาะ กับขบวนรถเร็วที่ 173

เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ หลังจากที่ผมเสร็จภาระกิจที่ กทม เรียบร้อย ก็ถึงเวลาต้องกับสู่สุราษฏร์ธานี เพื่อมาทำงานที่ค้างอยู่ระหว่างผมขึ้นมา กทม และหาเลี้ยงชีพต่อไปครับ

เนื่องจากการเดินทาง ผมได้จองตั๋วเดินทางไปกลับไว้แล้วในคราวเดียวด้วยรถไฟ  เมื่อใกล้ถึงเวลาเดินทาง จึงออกจากห้องพักมาแสตนบายที่หัวลำโพงครับ


ภายในหัวลำโพงครับ ระหว่างนั้นก็มีขบวนรถไฟสายต่างๆเข้าออกอยู่ตลอดเวลา


ภายในหัวลำโพง มีการติดเครื่องปรับอากาศ จึงทำให้การนั่งรอขบวนเข้าสู่ชานชลา จึงสบายๆไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนสมัยก่อนแล้วครับ


ในระหว่างนั่งรอขบวนก็หาอะไรรองท้องเล็กน้อย ซึ่งไม่นานก็มีเสียงตามสายแจ้งว่า ขบวนที่ผมใช้เดินทางกลับเข้ามาจอดที่ชานชลาที่ ๙ เรียบร้อยแล้ว ผมจึงขนสัมภาระซึ่งมีจำนวนกระเป๋าหลายใบไปไว้บนรถไฟก่อนเลย จะได้ไม่ต้องเดินแบกกระเป๋าให้รุงรังครับ

ขบวนที่ใช้เดินทาง คือขบวนรถเร็วที่ ๑๗๓ กรุงเทพ - นครศรีธรรมราช ที่ชานชลาที่ ๙ ครับ


ส่วนตู้โดยสารสำหรับที่นั่งนอนของผม อยู่ในคันที่ ๑๐ ครับ


ขบวนรถเร็วที่ ๑๗๓ นั้น ทำขบวนโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom 4306 (Caterpillar) ครับ


เนื่องจากยังพอมีเวลาก่อนออกเดินทางพอสมควร จึงเดินเล่นถ่ายภาพบริเวณหัวลำโพงพลางๆครับ


เดินออกมาเพียงเล็กน้อยครับ ก็พบอนุสรณ์ "ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง" ครับ

อนุสรณ์ "ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง"  การรถไฟฯ  ได้สร้างอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์สำคัญในอดีต และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔  ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเร แคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร ซึ่งต่อมา ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๐๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๔ ครับ


บริเวณรอบๆ มีหัวรถจักรไอน้ำ ๗๑๔ แบบล้อ ๒-๖-๐ ตั้งเป็นอนุสรณ์อยู่ที่ อนุสรณ์ "ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง" ด้วยครับ แต่ปัจจุบันหัวรถจักรนี้ ได้เลิกใช้งานแล้ว


หัวลำโพงจากมุมมองด้านอนุสรณ์


แล้วแล้วเสียงตามสายก็บอกเวลาปล่อยขบวนรถเร็วที่ ๑๗๓ แล้วครับ ไม่นานเสียงหวูดของเจ้าหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom 4306 ก็ดังขึ้น ผมจึงเดินกลับไปขึ้นขบวนรถเตรียมเดินทางกลับสู่มาตุภูมิครับ



ไม่นานครับ ก็ถึงเวลาปล่อยขบวนรถที่ ๑๗๓ ออกจากสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง


โดยขบวนรถเคลื่อนตัวไปช้าๆ  และเข้าสู่รางหลักมุ่งหน้าสู่สถานีสามเสนครับ



ระวางออกจากหัวลำโพง พบหัวรถจักร Alsthom หมายเลข 4201 ชนิด Diesel Electric Locomotives
๒,๔๐๐ แรงม้าครับ กำลังรอเพื่อเข้าไปทำขบวนที่หัวลำโพง





นอกจากนี้ ยังพบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric (GEK) 4024 ใช้เป็นหัวรถจักรลากสับเปลี่ยนตู้โดยสารในสถานีกรุงเทพครับ

ตอนแรกเห็นตกใจเลยครับ ว่าขบวนนี้ไปวิ่งผ่านดินแดงที่ไหนมา และการรถไฟใช้หัวคันนี้ลากขบวนไหน แล้วเวลาขับไป คนขับจะมองเห็นหรือไม่ ด้วยความเครงใจ กลับถึงบ้านเลยถามอากู๋ครับ พบว่ามีผู้ลงรายละเอียดคันนี้ไว้ก่อนแล้ว และถึงบางอ้อครับ ว่าเขาไม่ได้ให้เป็นหัวขบวน แต่ใช้สับเปลี่ยนตู้โดยสารเท่านั้น แต่จริงๆก็น่าจะล้างซักหน่อยนะครับ


หลังจากเจอเรื่องตกใจนิดหน่อย ขบวนก็เดินทางสู่สถานีสามเสน และบางซื่่อครับ



สะพานก่อนเข้าสถานีบางซื่อครับ



โรงรถจักรดีเซล บางซื่อ


หลังจากแวะรับผู้โดยสารจากสถานีบางซื่อแล้วขบวน ๑๗๓ ก็เดินทางลงสู่ภาคใต้
ขณะกำลังวิ่งผ่านสะพานพระหกครับ


สะพานพระราม ๖  เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครในเขตบางพลัด และจังหวัดนนทบุรีในอำเภอบางกรวย โดยสะพานพระราม ๖ เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของ ประเทศไทย ลงนามในสัญญาก่อสร้าง เมื่อ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ เริ่มการก่อสร้างเมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ วางหีบพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดต่อ กัน

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตัวสะพานได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก และมีการซ่อมแซมให้กลับมาใช้เดินรถยนต์ได้อย่างเดิม อยู่หลายครั้งประกอบกับอายุการใช้นานที่เก่าแก่ลง จนเมื่อมีการสร้างสะพานพระราม ๗ เสร็จสิ้น จึงทำการยุติเส้นทางรถยนต์ลง ซึ่งในปัจจุบันสะพานพระราม ๖ ถูกใช้เป็นเส้นทางรถไฟอย่างเดียว ส่วนเส้นทางเดินรถยนตร์จะใช้สะพานพระราม ๗ แทนครับ ที่มา http://www.lib.ru.ac.th/journal/bangkok/rama6.html


ขบวนเดินทางต่อไปเรื่อยๆครับ ไม่นานนัก ก็ถึงสถานีเพชรบุรีอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่มีขบวนรถสวนครับ


แต่หลังจากขบวนรถไฟ เริ่มเข้าเขตจังหวัดประจวบฯก็เข้าเขตแห่งการสับหลีกทางครับ ซึ่งขบวนของผมหลีบบ้าง ขบวนอื่นหลบบ้าง สลับกันไปครับ จนกระทั่งถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เที่ยงคืนนิดๆครับ


ที่สถานีประจวบ พบหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric (GE) หมายเลข 4037 รุ่นใหญ่ (เก่าแก่) ของหัวรถจักรดีเซลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันครับ ทำขบวนอะไรอันนี้ไม่แน่ใจครับ


เมื่อเข้าเขตจังหวัดชุมพรครับ อุปสรรคของการเดินทางด้วยรถไฟอีกอย่าง คือฝนครับ ไม่ใช่ทำให้รถวิ่งไม่ได้นะครับ มันก็วิ่งได้ปกตินั้นแหละ แต่ทำให้ผมต้องยกกระจกหน้าต่างขึ้น อดนอนรับลมเย็นๆเลยครับ แฮะๆ

ภาพนี้ขณะที่ขบวน ๑๗๓ จอดหลบหลีกขบวนที่มาจากใต้ ที่สถานีรถไฟนาชะอัง หมู่ที่ ๒ ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพรครับ


รอสักประมาณ ๑๕ นาทีครับ เสียงคำรามของรถจักรดีเซลก็มาถึง
แถมยิงลำแสงเลเซอร์ ยังกับอุลตร้าแมนมาเลยครับ ๕๕๕
เมื่อขบวนเดินทางต่อยังอีกหลายขั่วโมงครับกว่าจะถึงสุราษฏร์ นอนต่อดีกว่าครับ


กำหนดขบวนที่ ๑๗๓ จะมาถึงสถานีสุราษฏร์ ประมาณ ๐๕.๔๐ นาฬิกาครับ หลังจากที่ขบวนรถผ่านสถานีไชยาแล้ว พนักงานประจำขบวนก็มาปลุกเรียกผู้โดยสารที่จะลงสถานีรถไฟสุราษฏร์ครับ ซึ่งกำลังนอนหลับได้ทีเพราะอากาศเย็นฝนตกมาตลอดครับ ผใซึ่งตื่นก่อนเล็กน้อยหลังจากล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ ก็ทยอยขนกระเป๋ามาวางรอที่ประตูทางลงล่วงหน้าเลยครับ

เห็นแล้วครับ สะพานจุลจอมเกล้า ข้ามแม่น้ำตาปีครับ


เห็นเงาคนนึกว่าคนมาวิ่งออกกำลังกาย พอเข้าไปใกล้ อ่าว เยาวชนของชาติ สาวๆวัยคอซองสองคน กำลังวิ่งเล่นหยอกล้อกับบ่าวๆอยู่บนสะพาน นี่ถ้าไม่ติดมาผบ.มาด้วย จะไปแจมเอ้ย... จะดูสิว่าลูกหลานเราหรือเปล่า  อิอิ


และแล้ว ขบวนก็เทียบชานชลาครับ มาถึงก่อนเวลาด้วยครับ
ใครบอกว่ารถไฟช้า ไม่เลย หากไม่เสีย ๕๕



จอดอยู่นานพอดูครับ จนกระทั่งเวลาประมาณ ๖.๐๕ นาฬิกา สถานีก็ทำการปล่อยขบวนรถสู่จังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไปครับ


เมื่อขบวนที่ ๑๗๓ ออกจากสถานีสุราษฏร์ธานีไปแล้ว ด้านขวาเขียวๆนั้น เป็นรถไฟท้องถิ่น ขบวนที่ ๔๗๗ สุราษฎร์ธานี - สุไหงโก-ลก ก็เตรียมเดินทางสู่สถานีสุไหงโก-ลก เป็นขบวนถัดไปครับ


เนื่องจากที่บ้านยังไม่มารับ ระหว่างนั้นก็ถ่ายบรรยากาศของสถานียามรุ่งเข้าพลางๆครับ


อีกรูปครับ แสงพระอาทิตย์กำลังเริ่มล่องสว่างครับ





แต่เนื่องจากฝนตกในช่วงเช้า จงทำให้ฟ้ามีแต่เมฆครับ


ไม่นานครับ ที่บ้านก็เดินทางมารับ ก่อนถึงบ้านเล็กน้อย จึงมาเห็นแสงสีทองของพระอาทิตย์ยามเช้าครับ
ถึงบ้านพักอีกนิดหน่อย เตรียมตื่นมาลุยงานต่อครับ


วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

เที่ยวรถไฟสายน้ำตก ตอนที่ 2

เที่ยวรถไฟสายน้ำตก ตอนที่ 2

หลังจากผ่านสะพานถ้ำกระแซ ขบวนพิเศษที่ 909 ก็มุ่งหน้าสู่สถานีน้ำตกครับ วิวทิวทัศน์สองข้างทางก็เป็นสวนพืชเกษตรทั่วไป โอบล้อมด้วยภูเขาหิน



ตลอดทาง จะผ่านป่าและหุบเขา มีบางช่วงของเส้นทาง ที่เป็นร่องเขาลึก ซึ่งก็ได้ทำสะพานบริเวณร่องดังกล่าวด้วย






 ทางและสะพานโล่งๆ ไม่มีแนวกั้นครับ ทำให้เสียวๆเหมือนกัน


 ในช่วงนี้ เส้นทางบางตอนต้องขึ้นเนินไหล่เขา ลงเนินไหล่เขาสลับกันไป


 แม่น้ำแควน้อยเบื้องล่างทางรถไฟสายนี้ครับ


 พักใหญ่ครับ ขบวนรถก็เดินทางมาถึงสถานีเป้าหมาย สถานีรถไฟน้ำตกครับ


 สถานีรถไฟน้ำตก เดิมชื่อสถานีรถไฟท่าเสา ตั้งอยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อย ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นสถานีรถไฟปลายทางของทางรถไฟสายตะวันตก ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสถานีรถไฟชั้น ๓ ของทางรถไฟสายตะวันตก ถัดจากสถานีนี้เป็นป้ายหยุดรถไฟน้ำตกไทรโยคน้อย ที่สร้างขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวเฉพาะกิจครับ ( ที่มา wikipedia )


เมื่อถึงสถานีรถไฟน้ำตก พี่พนักงานการรถไฟประจำชบวน ก็แจ้งว่ารถไฟจะไปส่งถึงป้ายหยุดรถน้ำตกไทรโยคน้อยเลย ดีครับ นึกว่างานนี้จะต้องเดินไปน้ำตกเองเสียแล้ว และไม่นานขบวนก็เริ่มเคลื่อนตัวสู่สุดปลายรางสายตะวันตก ซึ่งเหลืออยู่ในปัจจุบันทันที


จากสถานีน้ำตกเพียงกิโลเมตร และแล้วก็มาถึงเป้าหมาย น้ำตกไทรโยคน้อยครับ


 ขบวนพิเศษที่ ๙๐๙ จอดสนิทที่สุดปลายราง เพื่อให้ผู้โดยสารลงเพื่อพักผ่อนตามอัธยาศัย เป็นเวลา เกือบ สามชั่วโมงครับ


 พอลงจากรถไฟ ก็เป็นทางเข้าอุทยานเลยครับ จะเห็นว่าปลายรางตอนนี้ มีแท่นปะทะสุดปลายรางเป็นร้านขายพระเครื่องซะแล้ว


 ถึงแล้วน้ำตกไทรโยคน้อย ขอถ่ายคู่กับรถไฟหน่อย แต่เผอิญรีบถ่ายไปหน่อยครับ โฟกัสเลยไปอยู่ที่รถไฟ ไม่ใช่นางแบบ ๕๕๕


 ผู้ร่วมเดินทางส่วนใหญ่ ผมว่าแทบจะทั้งหมดนะครับ ลงจากรถไฟก็เข้าไปสู่น้ำตกไทรโยคน้อยทันที แต่ไม่ใช่ทีมงานผม เมื่อรถไฟมาถึงน้ำตกก็เป็นเวลาเกือบเที่ยงแล้ว เมื่อมีเวลาอยู่ที่นี่ ถึง ๒ ชั่วโมงเศษ ดังนั้น ทุกคนจึงลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า น้ำตกไว้ก่อน เอาอิ่มท้องก่อนครับ ซึ่งบริเวณน้ำตกไทรโยคน้อย บริเวณที่รถไฟจอด ด้านซ้ายจะเป็นถนนสายกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ ( ทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ ) ข้ามถนนไปก็จะเป็นลานจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านค้าขายของฝาก และมีร้านอาหารหลายร้านให้เลือกหลากหลายครับ


 เดินๆดูอยู่หลายร้านครับ  เลือกไม่ถูกเพราะมีหลายร้าน เราก็กลัวว่าหากเลือกร้านผิด ไปโดนร้านอาหารไม่อร่อยแถมยังแพงด้วย จะทำให้ทริปนี้มีการเสียความรู้สึกได้ เพราะบางแห่ง ย้ำ บางแห่ง พ่อค้าแม่ค้าไม่รักษาจรรยาบรรณ ขายอาหารในสถานที่ท่องเที่ยว พอเห็นว่านักท่องเที่ยวเป็นขาจร ผ่านมาเที่ยวแล้วก็ไป จึงฉวยโอกาสขายแพง แถมสิ่งที่นำมาเป็นวัตถุดิบ กลับไม่มีคุณภาพ ของค้างคืนบ้างละ ทำให้ทริปนั้นๆสะดุดความประทับใจไป เพราะอาหารห่วยมากๆ ดังนั้น การศึกษาข้อมูลร้านอาหารในบริเวณที่เราจะไปจึงมีความสำคัญพอตัวครับ

 ซึ่งจริงๆแล้ว หากไม่กลัวโดนต่อยปากจากพ่อค้าแม่ค้าที่ฉวยโอกาส ๕๕๕๕๕ จะบอกกับท่านเหล่านั้นหน่อยว่า เดี๋ยวนี้โลกไซเบอร์ก้าวไกลแล้ว มีการลงรีวิวร้านและแสดงความเห็นลงบอร์ดและกระทู้ต่างๆจากคนที่เคยไปจริงๆ โดยไม่มีเรื่องค่าโฆษณาแอบแผงไว้มาก ดังนั้นหากร้านไหนห่วยแถมเอาเปรียบผู้บริโภค ก็จะถูกนำมาประจาน และเป็นที่จดจำว่า ร้านนี้ไม่ควรเข้าไป ต่อไปท่านจะขายอะไรไม่ได้

บ่นมามากพอแล้ว ยังไม่ได้กินอะไรสักที จึงสอบถามทีมงานว่าจะกินอะไร  ทีมงานว่าอยากกินส้มตำ อาหารง่ายๆ จึงเห็นร้านนี้ครับ เห็นมีจุดขายเป็นมีลัญลักษณ์ ครกส้มตำขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเลือกร้านนี้เป็นเป้าหมายครับ


อิอิ ตอนโพสรูปนี้ ยังลังเลอยู่ว่าป้ายที่ผมถ่าย คือป้ายร้านที่ผมกินหรือไม่ แต่เอาละ ร้านนี้อยู่ตรงป้ายนี้แหละ ขายทุกอย่างอาหารอีสาน อาหารตามสั่ง ทะเลจืด ทะเลเค็ม (ซีฟู๊ต) ครับเป็นร้านโต๊ะไม้ มีวิวมองเห็นทิวเขาด้านหลังร้านได้อย่างชัดเจน อิอิ  อันดับแรกส้มตำครับ ขาดไม่ได้

ปล. รูปอาหารถ่ายด้วยกล้องคอมแพ็คร้ายๆครับ  อิอิอิอิ ภาพจึงดูแตกลายงานิดหน่อย


มากินปลาทับทิมเผาเกลือถึงเมืองกาญฯ ๕๕๕  สด แม้ย่างไว้ก่อนแล้ว แต่รสชาติอร่อย ไม่ใช่ค้างคืนแน่นอนครับ รู้ได้ไง ก็เพราะเมียทานแล้วไม่บ่นครับ ๕๕๕๕


ต้มแซบกระดูกหมู


 ลาบวุ้นเส้น สาวๆกินของแซบๆทั้งนั้นครับ


 ส่วนผมพอดียังมีปัญหาเรื่องลำไส้เป็นแผล เพิ่งหายจากอาการได้ไม่เท่าไหร่ จึงอดทานของแซบครับ ผมจึงจำต้องกินราดกระเพราหมูสับง่ายๆเอาครับ


 อาหารที่สั่งง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องหรูหราอลังการ แต่กินด้วยใจ ก็อร่อยได้ไม่อายใครครับ


 หิวจัด เมื่ออาหารมาครบก็ลุยครับ


อืม.....เมื่อลองครบทุกเมนู ก็เข้าสู่เวทีประชาวิจารณ์ครับ สรุปว่า  อร่อยดี ไม่ผิดหวังครับ


 บรรยากาศทิวเขาหลังร้านครับ สวยงาม หลังเขานั้นไม่รู้พม่าหรือเปล่า


อีกรูปครับ พออิ่มหนำสำราญแล้ว เช็คบิลมา ราคาไม่แพงครับ สี่ร้อยหกสิบกว่าๆ  ถือว่าโอเคครับ ใช้ได้เลยร้านนี้ครับ


 หลังจากอิ่มแล้ว ก็ถึงเวลาสำรวจขึ้นไปสำรวจน้ำตกไทรโยคน้อยครับ


 ทางเข้าสู่น้ำตก มีป้ายบอกตำแหน่งอยู่ใกล้ๆหัวรถจักรไอน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ว่าถึงน้ำตกแล้วครับ


ป้ายบอกประวัติน้ำตกไทรโยคน้อยครับ


 พระบรมฉายาลักษณ์ครั้งในหลวงของเขา เสด็จสู่น้ำตกไทรโยคน้อย เมื่อปี ๒๕๐๖


 เดินจากทางเขาไม่ถึงร้อยเมตรครับ ก็ถึงตัวน้ำตกไทรโยคน้อย แต่ดูแล้วน้ำน้อยไปหน่อยครับ




 แม้น้ำจะน้อย แต่คนมาเที่ยวเยอะครับ เพราะเนื่องจากอากาศร้อน หลายท่านจึงลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานครับ



 หลายท่านลงไปเล่นน้ำครับ ส่วนผมไม่ดีกว่า นั่งชมบรรยากาศถ่ายรูปน้ำตกได้พอประมาณ จึงกลับไปยังทางเข้าดีกว่าครับ



 ย้อนกลับมาบริเวณทางเข้าน้ำตก ซึ่งมีหัวรถจักรไอน้ำตั้งอยู่


ป้ายบอกรุ่นและประวัติของมันบางส่วนครับ


 อลังการมากๆ


 อีกมุม


 แน่นอนครับ ต้องเป็นจุดหนึงที่นักท่องเที่ยวมารอคิวถ่ายรูปประจำ


 เมื่อคนเบาบางแล้ว ก็เป็นโอกาสของผม ที่จะได้ถ่ายกับหมายเลข ๗๐๒ เป็นที่ระลึก


 เสียดาย รางหมดแค่นี้ ไม่งั้นจะขับไปให้ถึงพม่า ๕๕๕


 นึกแล้วก็คิดถึงขบวนพิเศษ วันพ่อ ที่มีขบวนรถจักรไอน้ำไปอยุธยา ต้องหาโอกาสไปลองนั่งแน่นอนครับ


อีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบถ่าย คือเถาวัลย์ขนาดใหญ่ที่(หล่น)มาพาดขวางทางรถไฟระหว่างทางเดินเข้าสู่น้ำตก นี่เองที่เป็นสาเหตุให้รถไฟต้องสุดทางเพียงเท่านี้


 ถ่ายไปหลายรูปครับ จากนั้นจึงกลับไปอยู่ใกล้ๆขบวนรถไฟ เพื่อรอเวลากลับครับ


 น้ำตกก็ถ่ายแล้ว หัวรถจักรก็ถ่ายแล้ว ไม่มีอะไรจะถ่ายก็กลับมาหาเจ้าขบวน ๙๐๙ เหมือนเดิม


จอดรอ พร้อมพาผู้โดยสารกลับสู่กรุงเทพมหานครครับ


 เนื่องจากระยะเวลาที่อยู่ที่น้ำตกไทรโยคน้อย นานถึง ๒ ชั่วโมงเศษ ซึ่งจริงๆน่าเจียดเวลาหยุดที่ถ้ำกระแซสัก ๔๐ นาที จึงทำให้สองสาว นั่งกับการรอคอยเวลากลับ ด้วยอาการเบื่อๆนิดๆครับ


 แม้เบื่อเล็กน้อยกับระรยะเวลา แต่ยังยิ้มได้


 ที่ยิ้มได้เพราะมีของกินมั้ง ๕๕๕๕


 ส่วนผมก็ถ่ายอะไรไปเรื่อยๆ


 ถ่ายต้นไม้บ้าง สาวๆบ้างก็ว่ากันไปครับ ๕๕๕


 ลูกมะตูมครับ ของดีของที่นี้หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ขายกันเยอะครับ


 มุมรางรถไฟ เพื่อกลับไปยังสถานีน้ำตกครับ


และแล้วเสียงหวูดรถไฟก็ดังขึ้น แสดงว่าใกล้จะถึงเวลากลับแล้วครับ


 เมื่อผู้โดยสารขึ้นครบถ้วนแล้ว (มั้ง) ชบวนรถไฟก็เคลื่อนตัวออกจากป้ายหยุดน้ำตกไทรโยคน้อย กลับสู่กรุงเทพมหานครครับ


 ขากลับ ก็ขอถ่ายรูปวิวยามเย็นอีกเล็กน้อย


 ขาไปท้องฟ้าใสแจ๋วครับ แต่ขากลับเริ่มมีเมฆปกครุมท้องฟ้าบ้าง


 บางช่วงก็เป็นกลุ่มเมฆฝนครับ


 ขบวนรถไฟย้อนกลับเส้นทางเดิมครับ ไม่นานก็มาถึงสะพานข้ามแม่น้ำแควอีกครั้งครับ


 เที่ยวไปไม่ได้ถ่ายไว้ ขากลับจึงเก็บตกรายละเอียดที่พลาดไป อย่างเช่นพระโพธิสัตว์กวนอิมครับ ริมแม่น้ำแควครับ




 และแล้วขบวนรถไฟก็มาหยุดที่สถานีรถไฟกาญจนบุรีครับ


สถานีนี้ จอดระยะเวลา ๔๐ นาที เพื่อให้ผู้โดยสาร เดินทางไปเยี่ยมชมสุสานทหารพันธมิตรครับ


 ภายในสถานีกาญจนบุรีครับ


 การเดินทางไปยังสุสานนั้น ใช้บริการรถสองแถวหน้าสถานีครับ คนละ ๑๐ บาทเท่านั้น เหตุที่ ๑๐ บาท เพราะสุสานนั้น ห่างจากสถานีรถไฟ ไม่ถึง ๕๐๐ เมตรครับ เดินไปก็ถึง แต่เอาน่า ไม่ต้องเหนื่อย ๑๐ บาทก็คุ้มครับ



สุสานทหารพันธมิตร หรือชื่อจริงๆก็คือ "สุสานดอนรัก" หรือ "สุสานสหประชาชาติ" ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ป่าช้าอังกฤษ" เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ ๑๗ ไร่ บรรจุศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะถึง ๖,๙๘๒ หลุม โดยเชลยศึก ๓๐๐ คนเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคและฝังไว้ที่ค่ายนิเกะ (ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ก่อนถึงด่านเจดีย์สามองค์) ส่วนที่เหลือได้จากหลุมฝังศพเชลยศึกตามค่ายต่างๆ และยังมีสุสานช่องไก่ ซึ่งรัฐบาลไทยและฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เพื่อสร้างสุสานสองแห่งนี้ขึ้นครับ  ( ที่มา wikipedi )



บรรยากาศในสุสานเงียบสงบและร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆได้แก่ วัน Anzac Day 25 เมษายน ของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ , วัน Armistice Day 5 พฤษภาคม ของชาวเนเธอร์แลนด์ และวัน Remembrance Day 11 พฤศจิกายน ของชาวอังกฤษครับ ( ที่มา wikipedi )



 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้ดำเนินการจัดสร้างอนุสรณ์สถานแด่ผู้เสียชีวิตขึ้นหลายแห่งในทวีปเอเชียซึ่งเป็นสมรภูมิสำคัญนั้น มีอนุสรณ์สถานตั้ง อยู่ในหลายประเทศ คือ ในประเทศไทย ๒ แห่ง พม่า ๓ แห่ง อินเดีย ๖ แห่ง บังกลาเทศ ๕ แห่ง ปากีสถานและศรีลังกาอย่างละ ๒ แห่งครับ  ( ที่มา wikipedi )


 นอกจากนี้ที่กาญจนบุรียังมีอนุสรณ์สถานที่สร้างโดยทหารญี่ปุ่นเพื่อคาระวะ แด่ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตในระหว่างสงคราม คือ "อนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์ ส่วนกรรมกรชาวเอเชียอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตไปโดยไม่มีผู้ใดจดบันทึกไว้นั้น มีการสร้างอนุสาวรีย์กรรมกรและทหารนิรนามไว้ที่ป่าช้าวัดญวน และโครงกระดูกอีกส่วนหนึ่งของพวกเขาตั้งแสดงอยู่ที่พิพิทธภัณฑ์สงครามโลก ครั้งที่๒


 หลังจากได้ภาพความทรงจำพอสมควรแล้ว รถสองแถวก็นำมาส่งสถานีรถไฟเพื่อเดินทางกลับครับ


 แต่มาถึงแล้ว รถไฟก็ไม่มีทีท่าว่าจะออกครับ จึงเดินเล่นแถวๆสถานีรถไฟฆ่าเวลาครับ


นั่งแล้วยืนแล้วก็ไม่ออกสักที ตอนแรกเข้าใจว่าคงมีนักท่องเที่ยวกลับมายังไม่ถึงครบทุกคน


รอสักระยะ ได้ยินเสียงตามสายให้ผู้โดยสารที่จะไปน้ำตกเตรียมตัว จึงถึงบางอ้อครับ ว่าขบวนพิเศษของผม รอขบวนรถไฟ ขบวนรถธรรมดาที่ ๒๕๙ ธนบุรี - น้ำตก เข้าสู่สถานีก่อนครับ




 ขบวนเข้าสู่สถานีครับ


 อีกรูป







 เมื่อขบวนรถธนบุรี เทียบชานชลาสถานีรถไฟกาญจนบุรีแล้ว เสียงระฆังก็ตีให้สัญญาณให้ขบวนพิเศษที่ ๙๐๙ เคลื่อนตัวสู่กรุงเทพมหานคร


 บรรยากาศทุ่งนายามเย็น ระหว่างทางกลับกรุงเทพครับ


 หน้าตาเหนื่อยนิดหน่อย เนื่องจากตื่นเข้า และสู้กับความร้อนทั้งวัน




 เมื่อขบวนเดินทางมาถึงชุมทางหนองปลาดุก ขบวนก็จอดอีกครั้งครับ ตอนแรกก็งงว่าจอดทำไม จึงโชงกหน้าดู ก็เห็นขบวนที่ ๙๑๐ จอดอยู่ที่สถานีครับ จากนั้นขบวน ที่ ๙๐๙ ที่ผมโดยสาร ก็ถอยกลับเข้าไปหาขบวนที่ ๙๑๐ ครับ


ที่แท้ก็กลับไปต่อขบวนเข้าหมือนเดิมเพื่อกลับสู่หัวลำโพงพร้อมกันนั้นเอง มาด้วยกันแล้วจะหนีกลับคนเดียวได้ไง ๕๕๕

รูปนี้กำลังจะถ่ายแสงยามเย็น ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังต่อขบวน ๙๐๙ และ ๙๑๐ เข้าด้วยกัน แต่พอดีสาวสวยนางหนึ่งโผล่มาดูเหมือนกัน จึงกดถ่ายภาพนี้ สวยไปอีกแนว และผมรู้สึกชอบมากครับ


 จากนั้นชบวนเดินทางต่อ ระหว่างทางก็ถ่ายแสงยามเย็นบนรถไฟ สวยดีครับ


 หกโมงเย็นเศษๆ ขบวนก็มาถึงสถานีนครปฐมครับ



ถึงสถานีบางซื่อ ๒ เวลาทุ่มเศษครับ เนื่องจากสถานีนี้อยู่ใกล้กับที่พัก ง่ายต่อการเดินทาง จึงลงสถานีนี้เพื่อลงรถไฟฟ้า กลับที่พักครับ



 วันอาทิตย์ คนว่างๆครับ



แต่เนื่องจากเที่ยวมาทั้งวัน ถึงกรุงเทพก็เริ่มหิว จึงแวะหาอะไรกินรองท้องก่อนกลับบ้านพักผ่อนครับ  ด้วยข้าวหน้าหมูอบ ของสกายลาร์ค


และเกี๋ยวซ่า


 อิ่มครับ ถึงห้องพักเกือบสามทุ่ม
 ๑ วันเต็มกับการท่องเที่ยวไปกับรถไฟไทย สนุกครับ และถือว่าเต็มอิ่มมากๆสำหรับผม ได้ทั้งนั่งรถไฟที่ชอบในสายประวัติศาสตร์ ถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ถือเป็นการพักผ่อนที่ยอดเยี่ยมครับ

อีกอย่างที่โชคดีมากๆ คือวันที่ผมเดินทางนั้น ปรากฎว่าขบวนรถไฟสามารถจอดตามจุดเที่ยวต่างๆ และเดินทางได้ตรงตามกำหนดการณ์ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ล่าช้า ซึ่งพี่ประจำขบวนรถไฟ กระซิบมาว่า ผมถือว่าโชคดี ได้แวะทุกสถานที่ตามกำหนดการณ์ เพราะปกติ ส่วนใหญ่จะพลาดแวะชมสุสานเพราะรถเสียเวลา ต้องตีกลับกรุงเทพทันทีอยู่บ่อยครั้ง  งานนี้จึงยิ้มออกและขอบคุณทุกคนที่ทำให้ทริปการเดินทางด้วยรถไฟสายมรณะครั้งนี้ ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการครับ

สำหรับผมการเที่ยวที่แห่งใดสักที่ สถานที่นั้นไม่ต้องไฮโซหรูหรา ชื่อดัง ราคาต้องแพงครับ สถานที่ง่ายๆไม่ดัง ลำบากบ้างเล็กน้อย แต่เต็มไปด้วยตำนานและธรรมชาติที่สวยๆ ก็เพียงพอแล้ว เพราะการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบจริงๆ คือการท่องเที่ยวไปด้วยใจที่ต้องการสัมผัสการสถานที่นั้น ศึกษาสถานที่นั้น และดื่มด่ำกับสถานที่แห่งนั้น และอยู่กับสถานที่แห่งนั้น จากนั้นเก็บภาพกลับมาฝาก โดยเล่าเรื่องราวด้วยภาพเพื่อให้ผู้ที่ดูภาพเราเข้าใจ และสัมผัสเหมือนกับเดินทางไปกับเราด้วย  ไม่ใช่ไปเพียงเพื่อถ่ายรูปมาอวดว่าไปมาแล้ว แต่กลับไม่รู้จักสถานที่แห่งนั้นเลยแม้แต่น้อย ( บ่นอะไรว่ะ ๕๕๕)

ลาด้วยภาพแสงยามราตรีของกรุงเทพ จากระเบียงห้องพัก ขอบคุณมากครับ ที่ติดตามชมครับ