วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กลับเมืองร้อยเกาะ กับขบวนรถเร็วที่ 173

บันทึกการเดินทางด้วยรถไฟ

วันเดินทาง วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557
เส้นทาง กรุงเทพ - สุราษฏร์ธานี
ขบวนรถที่โดยสาร ขบวนรถเร็วที่ 173 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ

หลังจากอยู่กรุงเทพสิบกว่าวัน เริ่มเบื่อกรุงเทพแล้ว เมื่อภารกิจในการสอบเสร็จสิ้นเรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินทางกลับสู่เมืองร้อยเกาะ ชำระงานของผู้ให้การสนับสนุน เงินทุนเพื่อการสอบครั้งนี้กันต่อไป

สำหรับขบวนรถที่ใช้เดินทางกลับ คือ ขบวนรถเร็วที่ 173 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ กำหนดเวลาออกจากสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง เวลา 17.35 ครับ





ผมเดินทางไปถึงสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง เวลาประมาณ 16.00 ครับ มีเวลาเหลือประมาณชั่วโมงนิดๆ เลยถือโอกาสเก็บภาพภายในหัวลำโพงเพื่อรอเวลาครับ


ภาพแรก ย่านที่จอดรถดีเซลรางกรุงเทพครับ



ภาพต่อมา ขณะพนักงานกำลังทำความสะอาดตู้โดยสารปรับอากาศ น่าจะเป็นขบวนรถเชียงใหม่ครับ




เดินไปทางขวาของสถานี มีขบวนรถสุดพิเศษจอดอยู่ นั้นคือ ขบวนรถไฟสุดหรู “Eastern & Oriental Express” ขบวนรถพิเศษที่ 951 กรุงเทพ - สิงคโปร์



ขบวนรถที่มีชื่อภาษา อังกฤษว่า Eastern & Oriental Express เป็นรถไฟของเอกชน เปิดให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ.2538 ซึ่งจะเช่าหัวรถจักรของการรถไฟฯ และเวลาเดินรถของการรถไฟฯ โดยจะใช้เลขขบวนรถ คือ ขบวนรถพิเศษที่ 951 ( ไป ) และขบวนรถพิเศษที่ 952 ( กลับ ) วิ่งจากสถานีกรุงเทพ ออกเวลา17.00น. ไปกาญจนบุรีก่อน จากนั้นกลับมายังที่บ้านโป่ง วิ่งผ่านหัวหิน ชุมพร หาดใหญ่ เข้าเขตมาเลเซียที่ปาดังเบซาร์ ผ่านบัตเตอร์เวอร์ธ กัวลาลัมเปอร์ สุดปลายทางที่ด่านวู๊ดแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ระยะทางรวม 2,038 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 4 วัน 3 คืน ใช้ความเร็ว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ผู้โดยสารเพลิดเพลินกับบรรยากาศสองข้างทางอย่างเต็มที่ และยังไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเดินทางไปสิงคโปร์แล้วก็ยังมีขบวนไปสวรรคโลก-เชียงใหม่ ไปศรีสะเกษและหนองคายอีกด้วย





สำหรับขบวนรถพิเศษที่ 951 กรุงเทพ - สิงคโปร์ บนขบวนรถจะแบ่งห้องพักออกเป็น 3 ประเภทครับ

1.Presidental Suite จะเป็นห้องขนาดใหญ่ มีเพียง 2-3 ห้องต่อ 1 ตู้โดยสารครับ จะมีห้องแต่งตัว โต๊ะเครื่องแป้ง และห้องอาบน้ำขนาดใหญ่ด้วยครับ ราคาค่าโดยสารอยู่ประมาณ 140,000 กว่าบาทครับ

2.State Compartment เป็นห้องขนาดเล็กลงมา จะเป็นห้องเตียงคู่ครับ มีห้องอาบน้ำในตัว ราคาค่าโดยสารอยู่ราวๆ 100,000 บาท ครับ 

3. Pullman เป็นห้องขนาดเล็ก เป็นห้องเตียง 2 ชั้นคล้ายตู้นอนชั้น 1 ของไทย เพียงแต่จะมีห้องน้ำในตัวด้วยครับ ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 73,000 บาทครับ



ในวันนั้น ขบวนรถพิเศษที่ 951 กรุงเทพ - สิงคโปร์ นำลากโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric รุ่น UM12C หรือ GEK หมายเลข 4047 สีใหม่สดใสครับ



ในชีวิต ฝันว่าคงมีโอกาสได้นั่งสักครั้ง



ในสถานีนอกจากรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric รุ่น UM12C หรือ GEK หมายเลข 4047 นำลากขบวนรถไฟสุดหรู “Eastern & Oriental Express” แล้ว ยังมีคุณปู่ GEK หมายเลข 4012 ทำหน้าที่รถจักรสับเปลี่ยนอยู่ในสถานีกรุงเทพด้วย แต่สียังเก่า สภาพมอมแมมเหลือเกิน



รถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi (HID) หมายเลข 4511 ขณะเคลื่อนเข้าสู่ชานชาลา 5 เพื่อทำขบวนรถครับ
 


ตู้โดยสารชั้น 2 แบบ บชทป.30 ซึ่งเป็นตู้โดยสารที่มีการปรับปรุงใหม่ล่าสุดของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยทำการปรับปรุงจากตู้โดยสาร JR-West ชั้น 3 เดิม เปลี่ยนเป็น รถนั่งชั้น 2 ปรับอากาศ เพื่อผู้พิการ โดยตู้โดยสารประเภทนี้มีให้บริการในรถสายภาคอื่น แต่สายใต้ในตอนนี้ยังไม่มีครับ ซึ่งภายในอย่างหรูครับ



เดินไปยังชานชาลา 4 หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi (HID) หมายเลข 4511 จอดสงบอยู่ เพื่อรอเวลาออกจากสถานีกรุงเทพครับ ส่วนทำขบวนรถสายไหนนั้น ไม่ได้เก็บรายละเอียดมาครับ



แสงยามเย็นระหว่างชานชาลา 4 กับชานชาลา 5 ครับ




เดินไปยังชานชาลา 5 ก็มีหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi (HID) หมายเลข 4518 จอดสงบอยู่ เพื่อรอเวลาออกจากสถานีกรุงเทพครับ ส่วนทำขบวนรถสายไหนนั้น ไม่ได้เก็บรายละเอียดมาเช่นกันครับ



แสงกำลังดีจัดไปอีกรูปครับ



อีกมุมของหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi (HID) หมายเลข 4518



ภาพหาดูยาก การทำความสะอาดกระจกหน้าของ พขร.





แม้รู้ไม่แน่ชัดว่า หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi (HID) หมายเลข 4518 ทำขบวนอะไร แต่หากให้เดา น่าจะเป็นขบวนรถด่วนนครพิงค์ กรุงเทพ - เชียงใหม่เจ้า



สำหรับเส้นทางที่จะไปหากมีโอกาส สาย กรุงเทพ – อุดรธานี เพราะมีเพื่อนสนิทที่ทำงานสายกฎหมายเหมือนกันที่นั้นครับ





ใกล้ถึงเวลาเดินทางเข้าไปทุกที ผมจึงเดินกลับไปยังชานชาลาที่ 7 ขณะนั้น มี หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ALSTHOM หมายเลข4112 กำลังถอยเข้าไปต่อกับตู้โดยสารครับ



สำหรับขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ - นครศรีธรรมราช วันนี้จอดทำขบวนอยู่ชานชาลาที่ 9 ครับ




วันนี้ทำขบวนโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า จีอี (GE) รุ่น GEA หมายเลข 4549 สีใหม่ได้ใจจริงๆ



อีกมุมของขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช แบบยาวๆ



ผู้โดยสารพิเศษ ทำการขนอุปกรณ์และสัมภาระประจำที่นั่งเรียบร้อย



สำหรับขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช มีกำหนดออกจากสถานีกรุงเทพ เวลา 17.35 นาที พอถึงเวลาขบวนรถก็เคลื่อนตัวออกจากสถานีกรุงเทพครับ



ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช ออกจากชานชาลาที่ 9 ได้นิดหน่อย ก็หยุดขบวนรถที่บริเวณย่านจอดตู้โดยสาร โดนหยุดเป็นเวลาพอสมควรครับ




ระหว่างรอสัญญาณเสาเข้าเขียว คุณปู่ GEK หมายเลข 4012 ยังคงทำหน้าที่รถจักรสับเปลี่ยนอยู่ในสถานีกรุงเทพ



เมื่อสัญญาณเสาเข้าเขียวแล้ว ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช ก็คลานออกจากย่าน สู่จุดหมายปลายทางต่อไปครับ



แต่กว่าจะออกจากสถานีกรุงเทพ มาถึงสถานีชุมทางบางซื่อ ใช้เวลานานพอสมควรเนื่องจากต้องผ่านจุดตัดทางรถไฟหลายจุดพอสมควร จึงต้องทำให้จอดรอสัญญาณไฟวาบนานมาก



เมื่อขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช มาจอดสถานีชุมทางบางชื่อ ผมกะว่าจะถ่าย ผบ.ในมุมนี้ แต่พอดีกับขณะในกลุ่มเมฆมีฟ้าคะนองพอดี โชคดีสุดๆครับ เลยจัดมาให้ชมหลายๆมุมครับ





ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช แถวย่านตลิ่งชัน




จัดไปกับภาพขณะในกลุ่มเมฆมีฟ้าคะนองอีกรูปครับ




ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช ขณะข้ามสะพานพระราม 6 ครับ



ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช มาถึงสถานีรถไฟนครปฐม เวลา 19.44 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 34 นาทีครับ



จอดสถานีรถไฟนครปฐมเมื่อไหร่ เป็นพลาดไม่ได้ สำหรับก๋วยเตี๋ยวแห้งที่แม่ค้าขึ้นมาขายบนรถไฟ เลยจัดไปสี่กล่องครับ



แต่รอบนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่ขึ้นมาสอบครั้งที่แล้ว ราคากล่องละสิบบาท แต่ตอนนี้ขึ้นราคามาเป็นกล่องละสิบห้าบาท แถมปริมาณและเครื่องน้อยลง แต่รสชาติยังโอเคเหมือนเดิม





หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อนครับ หลับไปตอนไหนไม่รู้ ตื่นมาอีกทีขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช ก็ถูกจับหลีกขบวนรถที่ขึ้นมาจากใต้ ที่สถานีรถไฟทุ่งมะเม่า เวลา 00.06 นาฬิกา

สถานีรถไฟทุ่งมะเม่า ตั้งอยู่บ้านทุ่งมะเม่า ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานีรถไฟชั้น 4 ของทางรถไฟสายใต้ครับ




ออกจากสถานีรถไฟทุ่งมะเม่า ผมก็หลับเอาแรงต่อครับ มาตื่นอีกที ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช กำลังจะเข้าสู่สถานีรถไฟชุมพรครับ



ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช มาถึงสถานีรถไฟชุมพร เวลา 03.40 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 60 นาทีครับ




ตื่นมาอีกที ตะวันทอแสงส่องฟ้าสว่างเรียบร้อย



และแล้ว ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช ก็มาถึงสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานีโดยปลอดภัย เมื่อเวลา 06.33 นาฬิกา ช้ากว่ากำหนด 45 นาที ครับ



ต้องขอขอบคุณท่าน ทค. กันตภณ รัตนชัย ที่อุตส่าห์อาสามารับและพาผมไปส่งที่บ้านสวนมา ณ โอกาสนี้ด้วย ขอเวลาเก็บของและอุปกรณ์การเดินทางก่อนเริ่มลุยงานในวันนี้ต่อไปครับ