วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สู่เมืองบางกอก กับขบวนรถเร็วที่ 174

บันทึกการเดินทางด้วยรถไฟ ภาค จากสุราษฏร์ธานี สู่กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 ตุลาคม 2557

เนื่องจากผมมีภารกิจต้องขึ้นไปสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ประจำปี 2557 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ดังนั้น ในการขึ้นไปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ย่อมไม่พลาดที่จะเดินทางไปด้วยรถไฟเช่นเคย

สำหรับขบวนรถไฟที่ผมใช้เดินทางนั้น ผมเลือกเดินทางด้วยขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ซึ่งจะมาถึงสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานี ในเวลา 16.47 นาฬิกา ดังนั้น ผมจึงต้องเดินทางไปสถานีก่อนถึงเวลาล่วงหน้า ประมาณ 1 ชั่วโมงครับ

ในรอบนี้ มีน้องตินและน้องตุน หลานชาย มาส่งไปสอบด้วยเพราะหลานๆจะมาดูรถไฟ สงสัยติดเชื่อน้าสิงห์มา 555 เลยจับมาถ่ายกับป้ายประเพณีซะเลยครับ




น้องติน หลายชายคนโต



ส่วนคนนี้น้องตุน หลานชายคนเล็กครับ



สักพักมีเสียงหวูดดังมาจากฝั่งสถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ หันไปดู ปรากฏว่ามีหัวรถจักรวิ่งตัวเปล่าเข้ามายังสถานีสุราษฏร์ธานีครับ



หัวรถจักรที่วิ่งตัวเปล่าเข้ามา เป็นหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric รุ่น UM12C หรือ GEK หมายเลข 4050 คุณปู่ซู่ซ่าของเราครับ



เมื่อหัวรถจักรเคลื่อนตัวมาถึงบริเวณประแจ ก็ถูกจับเข้าสู่รางที่ 2 ครับ



เหตุที่ถูกจับเข้าสู่ราง 2 ก็แพราะต้องมาทำขบวนรถท้องถิ่นที่ 489 สุราษฏร์ธานี – คีรีรัฐนิคม ซึ่งมีกำหนดออกจากสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานี เวลา 16.55 นาฬิกานั้นเอง




ไม่นานก็มีเสียงตามสายประกาศว่า ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ จะมาถึงสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานี ล่าช้าประมาณ 15 นาที ผมจึงเตรียมจัดกระเป๋าและสัมภาระซึ่งรอบนี้มีหลายใบเพราะต้องไปอยู่กรุงเทพนานถึงสองสัปดาห์ ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย สะดวกต่อการหิ้วขึ้นรถไฟครับ
ตราบุรฉัตรของหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric รุ่น UM12C หรือ GEK หมายเลข 4050




ตราบุรฉัตร เป็นตราวงกลมทำจากเหล็กหล่อสีแดงน้ำหมาก สร้างขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในการที่พระองค์ทรงนำรถจักรดีเซลคันแรกมาใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยตราบุรฉัตรนี้จะติดข้างรถจักรดีเซลไฟฟ้าทุกคันครับ

จากนั้นเมื่อถึงเวลา 16.55 นาฬิกา ขบวนรถท้องถิ่นที่ 489 สุราษฏร์ธานี – คีรีรัฐนิคม ก็ออกจากสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานี สู่ปลายทางสถานีคีรีรัฐนิคมครับ



เมื่อขบวนรถท้องถิ่นที่ 489 สุราษฏร์ธานี – คีรีรัฐนิคม ออกจากสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานีไปแล้ว ไม่นานขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็มาถึงสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานีครับ



ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เข้าสู่ชานชาลาที่ 1 ของสถานีรถไฟสุราษฏร์ธานี



ในวันนี้ ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ทำขบวนด้วยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า ยีอี (GEA.) สีใหม่ หมายเลข 4540 เมื่อขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ จอดให้ผู้โดยสารขึ้นตู้โดยสารเรียบร้อยแล้ว ก็เคลื่อนขบวนสู่จุดหมายปลายทางครับ



ภาพต่อเนื่อง 6 ภาพ ก่อนขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ข้ามสะพานจุลจอมเกล้าครับ








เมื่อขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ข้ามสะพานจุลจอมเกล้าแล้ว ก็ถูกจับเข้าประแจหลีกที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ครับ




สำหรับขบวนรถไฟที่ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ หลีกให้นั้น คือขบวนรถด่วนพิเศษที่ 43 กรุงเทพ – สุราษฏร์ธานีครับ



ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 43 กรุงเทพ – สุราษฏร์ธานี ในวันนั้น ขณะผ่านสถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ ล่าช้ากว่ากำหนดถึงสถานีสุราษฏร์ธานี ประมาณ 40 นาที ครับ



เมื่อขบวนรถด่วนพิเศษที่ 43 กรุงเทพ – สุราษฏร์ธานี ผ่านสถานีรถไฟชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์เรียบร้อยแล้ว ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็เคลื่อนขบวนจากราง 2 เข้าสู่รางประธาน เดินทางรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟไชยาต่อไปครับ






ผู้ร่วมเดินทางไปกับผมในครั้งนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ผบ.ทบ. ครับ



ชิวชิว กับวิวสองข้างทาง



และขาดไม่ได้ที่จะมีพ่อค้าแม่ค้า ขึ้นมาขายของบนรถไฟ ถือว่าเป็นสัญญลักษณ์ของการเดินทางด้วยรถไฟครับ



ส่วนเรื่องมื้อเย็น ผมจัดเตรียมซื้อไว้ก่อนขึ้นรถแล้วครับ




หลังขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ หยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟไชยาแล้ว ก็มาหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟท่าชนะ ซึ่งขณะนั้นท้องฟ้าเริ่มมืดแล้วครับ





ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เดินทางมาถึงสถานีรถไฟชุมพร เวลา 20.13 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 46 นาที



เมื่อขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ออกจากสถานีรถไฟชุมพรแล้ว ผมนอนหลับบ้างตื่นบ้างเพราะยังไม่ดึกเท่าไหร่นัก มารู้สึกอีกทีขบวนรถถูกจับเข้าประแจหลีก เพื่อหลบขบวนรถจากกรุงเทพที่สถานีรถไฟห้วยสักครับ



สถานีรถไฟห้วยสัก ตั้งอยู่ บ้านห้วยสัก หมู่ 7 ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานีรถไฟชั้น 4 ของทางรถไฟสายใต้



หลังจากออกจากสถานีรถไฟห้วยสักได้ไม่นาน ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็ถูกจับเข้าประแจหลีก เพื่อหลบขบวนรถที่มาจากกรุงเทพที่สถานีรถไฟห้วยยางอีกครับ




สถานีรถไฟห้วยยาง ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษม ตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานีรถไฟชั้น 4 ของทางรถไฟสายใต้ 

โดยในส่วนภาพที่สถานีรถไฟห้วยยางนั้น ผมไม่ได้ถ่ายเป็นภาพนิ่งไว้ แต่ถ่ายเป็นไฟล์วีดีโอแต่ไม่ได้เรื่องครับ เลยไม่มีภาพขณะขบวนรถผ่านในรางประธานมาให้ชม ขออภัยด้วย

จากนั้น ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็หยุดรับผู้โดยสารอีกครั้ง แต่ที่สถานีใดจำไม่ได้





ไม่นานนัก ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เดินทางมาถึงสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ เวลา 23.33 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 36 นาที



ออกจากสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ มาไม่นาน ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็ถูกจับเข้าประแจหลีก เพื่อหลบขบวนรถจากกรุงเทพ ที่สถานีรถไฟบ่อนอกอีกครั้งครับ



สถานีรถไฟบ่อนอก ตั้งอยู่บ้านบ่อนอก หมู่ 6 ตำบลบ่อนอก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานีรถไฟชั้น 4 ของทางรถไฟสายใต้



ขบวนที่ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ หลีกทางให้ น่าจะเป็น ขบวนรถเร็วที่ 173 กรุงเทพ -นครศรีธรรมราช ครับ



ต่อมา ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟหัวหิน เวลา 01.21 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 39 นาที



สถานีรถไฟหัวหิน ตั้งอยู่ถนนพระปกเกล้า ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 ของทางรถไฟสายใต้ ครับ




หลังจากออกจากสถานีรถไฟหัวหิน ก็ได้เวลางีบอีกครั้ง มาตื่นอีกทีเมื่อขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เดินทางมาถึงสถานีรถไฟนครปฐม เวลา 04.05 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 27 นาที



ถัดมา ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เดินทางมาถึงสถานีรถไฟศาลายา เวลา 04.33 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 24 นาที



ไม่นานนัก ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็เดินทางมาถึงสถานีรถไฟบางบำหรุ เวลา 04.53 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 25 นาที



เมื่อขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เดินทางมาถึงสถานีรถไฟชุมทางบางชื่อ ปรากฏว่าขบวนนี้กลับหยุดอยู่นิ่งๆ ก่อนเข้าชุมทางบางซื่อเพียงเล็กน้อย กว่า 30 นาทีครับ รออะไรไม่ทราบ เป็นเหตุให้ขบวนนี้ล่าช้ากว่ากำหนดไปโดยไม่ทราบสาเหตุ งงครับ ซึ่งหากให้เดา คาดว่าภายในสถานีกรุงเทพ ( หัวลำโพง ) ไม่มีชานชาลาว่างเลยต้องหยุดรถเพื่อรอครับ



เป็นเหตุให้ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ เดินทางมาถึงสถานีรถไฟสามเสน เวลา 05.54 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 60 นาทีครับ




ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ขณะผ่านสถานีรถไฟจิตรลดา



สถานีรถไฟจิตรลดา หรือ สถานีรถไฟหลวงสวนจิตรลดา เป็นสถานีที่สร้างขึ้น สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการเสด็จฯ ทางรถไฟ อีกทั้งได้เคยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะในบางโอกาส ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถนนสวรรคโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของทางรถไฟ โดยอาคารหลังปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2464 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทดแทนอาคารหลังเดิมที่เป็นอาคารไม้ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5






ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็มาถึงสะพานข้ามคลองแสนแสบครับ



ก่อนเข้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ก็มาหยุดรอสัญญาณอีกพักใหญ่ครับ



ระหว่างรอ มีหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric รุ่น UM12C หรือ GE ทำการสับเปลี่ยนตู้โดยสารอยู่ในย่าน แต่ไม่ทราบว่าหมายเลขเท่าใด



เมื่อได้รับสัญญาณให้ทางแล้ว ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็เข้าสู่สถานีกรุงเทพครับ





ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ก็เคลื่อนตัวเข้าสู่สถานีกรุงเทพ ในชานชาลาที่ 2 ครับ





ขบวนรถเร็วที่ 174 นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ถึงสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.08 นาฬิกา ล่าช้ากว่ากำหนด 58 นาทีครับ



หลังจากเก็บของลงจากขบวนรถแล้ว ผมก็เดินทางไปยังที่พัก เตรียมตัวทำภาระกิจต่อไปครับ





ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น