วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โดดงานไปนั่งรถไฟเล่น ตอนที่ 5

บันทึกการเดินทางด้วยรถไฟ วันที่ 3 ธันวาคม 2557 สุราษฏร์ธานี – พัทลุง – สุราษฏร์ธานี

 ช่วงที่ 5 หลานตาชู สเต๊กเฮาส์ – สถานีรถไฟพัทลุง

จากช่วงที่ 4 สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง – สถานีรถไฟพัทลุง เดินทางกันต่อครับ

เนื่องจากขบวนรถท้องถิ่นที่ 447 สุราษฏร์ธานี – สุไหงโกลก มาถึงสถานีรถไฟพัทลุงเวลา 11.38 นาที ซึ่งตามกำหนดขบวนนี้จะต้องมาถึงสถานีรถไฟพัทลุงเวลา 10.56 ล่าช้ากว่ากำหนด 42 นาที ผมจึงมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมงนิดๆ เท่านั้นที่จะเดินเที่ยวในตัวเมืองพัทลุง จากนั้นจะต้องกลับมารอขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก - สุราษฏร์ธานี ที่จะมาถึงสถานีพัทลุงเวลา 13.00 นาฬิกา ซึ่งเป็นขบวนที่ผมจะใช้เดินทางกลับสุราษฏร์ธานี มิฉะนั้น หากเกิดปาฏิหาริย์ รถดันมาตรงเวลา ผมก็อาจตกรถได้ ซึ่งหากพลาดขบวนนี้ ต้องรอกลับด้วยขบวนรถเร็วที่ 170 ยะลา - กรุงเทพ หรือรถเร็วที่ 172 สุไหงโก-ลก - กรุงเทพ และรถด่วนพิเศษที่ 38 สุไหงโกลก - กรุงเทพ และรถด่วนพิเศษอื่นๆเท่านั้น ซึ่งทุกขบวนจะไปถึงสุราษฏร์ธานี หลังเที่ยงคืนทุกขบวนครับ เมื่อเป็นอย่างนั้น ผมและลูกทัวร์ ( จำเป็น ) เลยตกลงไปหาอะไรกินใกล้ๆ แล้วนั่งวินมอเตอร์ไซค์ จากสถานีรถไฟพัทลุง ไปทานมื้อเที่ยงอย่างเร็วที่ หลานตาชู สเต๊กเฮาส์ สาขา 2 ครับ





หลานตาชู สเต๊กเฮาส์ เป็นร้านดังของจังหวัดพัทลุง เดิมมีสาขาเดียวที่ ริมถนนสายเอเชีย หมู่ที่ 9 ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง แต่เนื่องจากสาขาดังกล่าวตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองพัทลุงพอสมควร ดังนั้น เพื่อความสะดวกของคนในตัวเมือง จึงเปิดเพิ่มเป็นสาขา 2 อยู่ในกลางตัวเมืองพัทลุงครับ



ซึ่งคุณภาพไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญ คนไม่เยอะแน่นเหมือนสาขาแรก และอาหารมาไว ผมชอบครับ



เวลาที่ไปถึงร้าน อีกสิบนาทีเที่ยงตรงครับ เมื่อเป็นดังนั้น ไม่รอช้า รีบสั่ง รีบกิน รีบจ่าย รีบกลับครับ 55555



บรรยากาศภายในร้าน



สั่งอาหารไปสามอย่างครับ เนื่องจากเวลาน้อย เพียง 15 นาทีอาหารก็มาครบ เร็วแบบรถด่วนครับ เมนูแรกของผมเอง เอาง่ายๆครับ ข้าวไก่เทอริยากิ



ส่วนของ ผบ. สปาเก็ตตี้ สั่งทุกครั้งที่ไปร้านแบบนี้



ไม่รู้มันอร่อยตรงไหน สู้ผัดซีอิ้วก็ไม่ได้ 555 ( ความเห็นส่วนตัวผม เพราะผมมันพวกลิ้นจระเข้ )



ต่อมาก็เมนูสำคัญ ที่อุตส่าห์ดังด้นนั่งรถไฟมาถึงพัทลุง ขาหมูเยอรมัน ของขึ้นชื่อที่นี้


ยอมนั่งรถไฟไปกลับ จากสุราษฏร์ธานี - พัทลุง - สุราษฏร์ธานี ร่วม 13 ชั่วโมง คิดเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 422 กิโลเมตร ก็เพื่อสิ่งนี้




นั่งกินแบบกึ่งชิวชิว กึ่งรีบร้อน ประมาณ 40 นาที ก็เช็คบิลเตรียมกลับไปรับตั๋วโดยสารขากลับ ที่สถานีรถไฟพัทลุงครับ




จากหลานตาชู นั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปเหมือนเดิม ไม่กี่อึดใจก็ถึงครับ เนื่องจากร้านหลานตาชู สาขาในเมืองนั้น อยู่ไม่ไกลกับสถานีรถไฟพัทลุงเท่าใดนัก โดยผมไปถึงสถานีรถไฟพัทลุงประมาณเที่ยงสี่สิบนาที



เมื่อไปติดต่อขอรับตั๋ว ทางสถานีกลับแจ้งว่า ยังไม่ออกตั๋วได้ จะประกาศให้มารับตั๋วอีกครั้ง ให้นั่งรอไปก่อน ผมจึงสามารถเดาได้ทันทีว่า ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี ที่ผมจะโดยสารกลับนั้น เสียเวลาแน่นอน แต่เสียเวลาเท่าไหร่นั้น ทางสถานียังไม่สามารถบอกได้ ผมจึงตรวจสอบระบบติดตามรถจากมือถือ แต่ปรากฏว่า ไม่มีการอัพเดตสถานีล่าสุดที่ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานีผ่าน เมื่อทำยังไงไม่ได้ จะไปเที่ยวที่อื่นก็กลัวมาไม่ทัน จึงได้แต่รอและถ่ายรูปบริเวณรอบๆสถานีไปพลางๆครับ ซึ่งหากใครทำใจเรื่องการรอไม่ได้ แนะนำอย่าไปเที่ยวกับรถไฟครับ ไม่งั้นท่านจะหงุดหงิดใจ พาลจะไม่สนุกได้ครับ




หลังจากนั่งรอ ยืนรออยู่สักพักใหญ่ๆ ทางสถานีก็ประกาศให้ผู้โดยสาร ที่จะโดยสารไปกับขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี นำบัตรประชาชนไปแสดงเพื่อขอตั๋วได้ ผมและ ผบ.จึงไปรับตั๋วโดยสารหน้าตาเป็นแบบนี้ครับ



หลังจากรับตั๋วโดยสารแล้ว คิดว่าจะได้ขึ้นรถกลับเลยใช่ไหมครับ ยังครับ ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี ยังไม่มา แต่จะมีขบวนรถสายอื่นเข้าสู่สถานีพัทลุงก่อน ผมเลยถือโอกาสถ่ายขบวนรถที่จะเข้าสู่สถานีพัทลุงไปพลางๆ ซึ่งขบวนแรกในช่วงบ่ายที่จะเข้าสู่สถานีพัทลุง คือ ขบวนรถท้องถิ่นที่ 455 ชุมทางเขาชุมทอง – ยะลา



ขบวนรถท้องถิ่นที่ 455 ชุมทางเขาชุมทอง – ยะลา แม้ต้นทางจะระบุเป็นสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง ก็ตาม แต่การเดินรถจริงๆแล้ว รถขบวนนี้มีต้นทางเดินรถที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช โดยกำหนดออกจากสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชเวลา 09.58 นาฬิกาครับ



และขบวนนี้มีความพิเศษอยู่อีกประการคือ รถขบวนนี้ในช่วงเช้า จะทำขบวนรถท้องถิ่นที่ 458 พัทลุง – ชุมทางเขาชุมทอง ก่อน โดยออกจากสถานีรถไฟพัทลุง เวลา 06.00 นาฬิกา แต่แม้ปลายทางจะระบุเป็นสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง ก็ตาม แต่การเดินรถจริงๆแล้ว รถขบวนนี้มีปลายทางเดินรถที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช และเมื่อไปถึงสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชเวลา 08.30 นาฬิกา ก็จะแปลงร่างเป็นขบวนรถท้องถิ่นรวมที่ 455 ชุมทางเขาชุมทอง – ยะลา เพื่อทำการเดินรถต่อเลย



ดังนั้น การเดินรถของขบวนนี้ จึงมีเส้นทางคือ ออกจากสถานีรถไฟพัทลุง ( 06.00 น ) – ไปสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง ( 07.32 น ) – จากนั้นเข้าแยกไปสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ( 08.30 น / 09.58 น) – แล้วกลับออกมายังสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง ( 10.48 น ) – กลับมาสถานีพัทลุง ( 12.21 น ) และไปสุดปลายทางที่สถานียะลา ครับ คงไม่งงนะครับ 5555



สำหรับขบวนรถท้องถิ่นที่ 455 ชุมทางเขาชุมทอง – ยะลา ในวันนั้น นำลากขบวนโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom (AHK) หมายเลข 4220 ครับ


ผลจากการต้องทำขบวนสองสายในคันเดียว ป้ายข้างรถเลยออกมาเป็นเช่นนี้ครับ “พัทลุง – นครศรีธรรมราช – ยะลา”



จากการยืนมอง ผู้โดยสารน้อยครับ รถโล่งมากๆ แต่คงเป็นวันธรรมดา หากวันหยุดน่าจะมีมากกว่านี้



หลังจากขบวนรถท้องถิ่นที่ 455 ชุมทางเขาชุมทอง – ยะลา จอดรับส่งผู้โดยสารประมาณ 5 นาที นายสถานีก็ให้สัญญาณปล่อยขบบวนรถสู่สถานีต่อไปครับ



หลังจากขบวนรถท้องถิ่นที่ 455 ชุมทางเขาชุมทอง – ยะลา เดินเครื่องไปจากสถานีพัทลุงแล้ว ผมก็นั่งรอ ยืนรออยู่สักพัก ทางสถานีให้สัญญาณเคาะระฆัง แสดงว่าจะมีขบวนรถเข้าจอดเทียบชานชลาสถานีรถไฟพัทลุง ลุ้นเลยครับ



แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากขบวนที่จะเข้าสู่สถานีไม่ใช่ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี แต่เป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ 456 ยะลา – ชุมทางเขาชุมทอง ครับ



ขบวนรถท้องถิ่นที่ 456 ยะลา – ชุมทางเขาชุมทอง ในวันนั้น นำลากขบวนโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom (AHK) หมายเลข 4223 ครับ



และแม้ปลายทางของขบวนนี้ จะระบุเป็นสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองก็ตาม แต่การเดินรถจริงๆแล้ว รถขบวนนี้มีปลายทางเดินรถที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช และเมื่อไปถึงสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชแล้ว ก็จะแปลงร่างเป็นขบวนรถท้องถิ่นที่ 457 ชุมทางเขาชุมทอง – พัทลุง เพื่อทำการเดินรถกลับมายังสถานีพัทลุง เพื่อทำขบวนรถท้องถิ่นที่ 458 พัทลุง – ชุมทางเขาชุมทอง ในตอนเช้าต่อไปครับ



หลังจากขบวนรถท้องถิ่นที่ 456 ยะลา – ชุมทางเขาชุมทอง เดินเครื่องไปจากสถานีพัทลุงแล้ว ผมก็นั่งรอ ยืนรออยู่สักพัก ไม่นาน ทางสถานีให้สัญญาณเคาะระฆัง และแจ้งว่าขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี จะเข้าจอดเทียบชานชลาที่ 2 ได้เวลากลับสุราษฏร์ธานีซะทีครับ



ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี ค่อยๆเคลื่อนขบวนเข้าสถานี




ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี ค่อยๆเคลื่อนขบวนเข้าสู่ชานชลาที่ 2






ขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี ในวันนั้น นำลากขบวนโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom (ALS) หมายเลข 4103 ครับ




เมื่อขบวนรถท้องถิ่นที่ 448 สุไหงโกลก – สุราษฏร์ธานี จอดเทียบชานชลาที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย ผมและผู้โดยสารไม่กี่ท่าน ก็ขึ้นไปจับจองที่นั่งตามสะดวก เพราะตั๋วฟรีจะไม่มีการระบุเลขที่นั่ง ใครใคร่นั่งตรงไหนก็ได้ ผมเลยเลือกตู้โดยสารคันสุดท้ายของขบวนครับ รอทางสถานีให้สัญญาณออก

แต่สักพักทางสถานีให้สัญญาณเคาะระฆัง และแจ้งว่าจะมีขบวนรถท้องถิ่นที่ 445 ชุมพร – ชุมทางหาดใหญ่ เข้าจอดเทียบชานชลาที่ 1 ให้ระมัดระวัง ผมจึงเตรียมกล้องเพื่อถ่ายขณะขบวนรถท้องถิ่นที่ 445 ชุมพร – ชุมทางหาดใหญ่ เข้าสถานีครับ


ขบวนรถท้องถิ่นที่ 445 ชุมพร – ชุมทางหาดใหญ่ ค่อยๆเคลื่อนขบวนเข้าสู่ชานชลาที่ 1


ขบวนรถท้องถิ่นที่ 445 ชุมพร – ชุมทางหาดใหญ่ ตามกำหนดมาถึงสถานีพัทลุงเวลา 14.18 นาฬิกา วันนี้มาถึงสถานีพัทลุง เวลา 14.40 นาฬิกา ล่าช้าประมาณ 20 นาทีครับ





ขบวนรถท้องถิ่นที่ 445 ชุมพร – ชุมทางหาดใหญ่ ในวันนั้น นำลากขบวนโดยหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า General Electric (GE CM22-7i) หรือ GEA หมายเลข 4528 ครับ




หลังจากขบวนรถท้องถิ่นที่ 445 ชุมพร – ชุมทางหาดใหญ่ จอดรับส่งผู้โดยสารประมาณ 5 นาที นายสถานีก็ให้สัญญาณปล่อยขบบวนรถสู่สถานีต่อไป และแล้วก็ถึงเวลาที่ผมจะได้เดินทางกลับสุราษฏร์ธานีเสียทีครับ ( ติดตามภาคจบ ของบันทึกเดินทางด้วยรถไฟ วันที่ 3 ธันวาคม 2557 สุราษฏร์ธานี – พัทลุง – สุราษฏร์ธานี ในช่วงสุดท้าย สุดปลายทางสถานีสุราษฏร์ธานีครับ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น